การสกัดสารระเหยจากพืชมีหลายวิธีด้วยกัน การสกัดบางวิธีก็ให้น้ำมันหอมระเหย (True essential oil) การสกัดบางวิธีก็ได้สารระเหยที่สกัดจากพืช (Aromatic extracts) ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็นน้ำมันหอมระเหย น้ำมันหอมระเหยจะได้จากการกลั่นจากไอน้ำ (Distillation) และการบีบ (Expression) เท่านั้น ในงานสุวคนธบำบัด (Aromatherapy) แบบดั้งเดิมจะใช้เฉพาะน้ำมันหอมระเหย (True essential oil) เท่านั้น แต่ในระยะหลังการนำเอาสารสกัดจากพืช (Aromatic extracts) มาใช้ใน Aromatherapy ได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยลำดับ ดูในรูปจะพบความแตกต่างในการสกัดสารจากพืชที่เป็นน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) และ สารระเหยจากพืช (Aromatic extracts)
การสกัดน้ำมันหอมระเหยมีหลายวิธี คือ
1. การกลั่น (Distillation)
1.1) การกลั่นด้วยน้ำ (Water Distillation)
วิธีนี้ทำโดยนำพืชที่เราต้องการสกัด ใส่ลงไปในภาชนะ ซึ่งในภาชนะนั้นมักจะมีตะแกรงสำหรับวางพืชชนิดที่เราต้องการกลั่น จากนั้นก็เติมน้ำสะอาดน้ำจนท่วมพืชที่ต้องการกลั่น แล้วต้มน้ำจนเดือดกลายเป็นไอน้ำ การที่ต้องมีตะแกรงก็เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนถูกกับพืชโดยตรง เพราะน้ำมันหอมระเหยที่ได้อาจจะมีกลิ่นไหม้ผสมได้ น้ำมันหอมระเหยและน้ำ ในพืชชนิดนั้นๆ ระเหยขึ้นไป จากนั้นไอระเหยก็จะถูกทำให้เย็นลงเพื่อให้กลับมาเป็นของเหลวอีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้ น้ำมันหอมระเหยจะถูกแยกจากน้ำ
1.2) การกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ (Water and Steam Distillation)
วิธีนี้จะให้ไอน้ำผ่านส่วนผสมของพืชและน้ำที่รวมกันอยู่ เมื่อน้ำและน้ำมันหอมระเหย ระเหยขึ้นไป จึงถูกทำให้ไอน้ำเย็นลงแล้วนำไปแยกน้ำมันหอมระเหยออกมา
1.3) การกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam Distillation)
โดยการนำพืชที่ต้องการกลั่นใส่ในหม้อ แล้วให้ความร้อนกับน้ำเพื่อให้กลายเป็นไอน้ำแล้วให้ไอน้ำผ่านในพืชที่ต้องการกลั่น ซึ่งปกติอุณหภูมิของไอน้ำมักจะไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส แต่ในทวีปอเมริกาและในยุโรป มักจะเพิ่มความดันอากาศภายในหม้อกลั่น ช่วยทำเพิ่มอุณหภูมิของไอน้ำ และ ลดเวลาในการกลั่นได้ แต่ถ้าร้อนเกินไปก็อาจทำให้คุณสมบัติของน้ำมันเปลี่ยนไปได้
1.4) การกลั่นภายใต้สูญญากาศ (Steam and Vacuum Distillation)
การกลั่นแบบนี้จะต้องดูดอากาศภายในหม้อกลั่นออก ความดันอากาศภายในมักอยู่ระหว่าง 100-200 mmHg ข้อดีของการกลั่นแบบนี้คือช่วยลดเวลาในการกลั่นลงมาก แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องควบคุมการกลั่นให้มีประสิทธิภาพและการทำให้ไอน้ำเย็นลงต้องทำอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น
2. บีบเย็น หีบเย็น หรือสกัดเย็น (Cold Expression)
ส่วนมากมักจะใช้สกัด น้ำมันหอมระเหย จากเปลือก ส้ม มะนาว ส้มโอ มะกรูด ก่อนอื่นต้องปลอกเปลือกของผลไม้เหล่านี้ แล้วทำให้ชิ้นเล็กลง แล้วนำไปบีบ จะได้ของเหลวที่มีทั้งน้ำและน้ำมันหอมระเหยผสมกันอยู่ จากนั้นต้องรอให้น้ำมันลอยตัวแยกจากน้ำ แล้วจึงสามารถ แยกส่วนที่เป็นน้ำมันหอมระเหยออกมาได้ วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำที่สุด แต่น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดแบบนี้ จะไม่บริสุทธิ์มาก และ มีอายุไม่นาน ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี กลิ่นและคุณสมบัติจะค่อยๆหมดสภาพไป ขณะที่น้ำมันพื้นฐาน อาจจะมีอายุอยู่ได้นานกว่า คือประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาด้วย
การสกัดสารระเหยที่สกัดจากพืช (Aromatic Extracts) มีหลายวิธี คือ
1) การสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent Extraction)
การสกัดแบบนี้ จะนำเอาสารทำละลายประเภทไฮโดรคาร์บอน ใส่ลงไปกับพืชที่ต้องการสกัด เพื่อให้ น้ำมันหอมระเหย ละลายออกมา จากนั้นก็นำสารละลายที่ได้ไปทำให้เข้มข้นขึ้นโดยผ่านกระบวนการกลั่น ก็จะได้เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ เรซิ่นอยู่ด้วย ซึ่งก็จะมีลักษณะคล้าย แว็กซ์ ที่มี น้ำมันหอมระเหย ผสมอยู่ภายใน จากนั้น ก็นำ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์มาละลายเอาน้ำมันหอมระเหยออกมา แล้วจึงทำให้แอลกอฮอลระเหยไป คงเหลือ แต่น้ำมันหอมระเหย อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการสกัด เพราะน้ำมันหอมระเหยที่ได้จะยังคงมีส่วนของสารละลายที่ตกค้างอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ระคายเคืองและแพ้ได้
2) Enfleurage
วิธีนี้มักใช้กับการสกัดดอกไม้ที่บอบบาง เช่น ซ่อนกลิ่น มะลิ เป็นต้น ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้วิธีนี้แล้ว เพราะต้องใช้ทั้งเวลาและแรงงานมาก ปัจจุบัน 99 % ของดอกซ่อนกลิ่น และมะลิ ผลิตโดยวิธี Solvent extraction
3) Carbon dioxide
มีผู้คิดค้นวิธีสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหลว ภายใต้แรงดันสูง เพื่อทำละลายให้สารระเหยในพืช ละลายในคาร์บอนไดออกไซด์เหลว แล้วจึงปล่อยให้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวระเหิดในสภาวะความดันปกติก็จะเหลือไว้ แต่สารหอมระเหยจากพืชบริสุทธิ์ วิธีนี้ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะได้สารหอมระเหยบริสุทธิ์มาก และมีความคงตัวสูง สามารถเก็บไว้ได้นานมากกว่าวิธีการสกัดอื่นๆ แต่ข้อเสียคือ มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าวิธีอื่นๆ ปัจจุบันสาระเหยที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการนำมาใช้ในงาน Aromatherapy และอุตสาหกรรมน้ำหอม มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสารสกัดที่ได้มีความบริสุทธิ์และไม่ผ่านความร้อนสูง
ข้อดีและข้อเสียในการสกัดแต่ละวิธี
Extraction Process | Advantages | Disadvantages |
Distillation | Economical, Simple apparatus, large quantity scale, little labor | Time consumption, Changing constituents |
Expression | Simple apparatus, no heat | Oxidize quickly, Only Citrus peel oil, |
Enfleurage | Low temperature needed, solvent residue left | Time consuming, labor intensive |
CO2 Extraction | No heat, pure product, long lasting product | Expensive |
Solvent extraction | Constant product | Solvent residues |