ผู้หญิงมักมีอาการไมเกรนมากกว่าผู้ชาย ส่วนมากมีสาเหตุมาจากระดับฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน ระหว่างการตั้งครรภ์ และในวัยหมดประจำเดือน มักเริ่มช่วง 20 ปีขึ้นไป และ บรรเทาลงเมื่ออายุเกิน 50 ปี ขึ้นไป ส่วนใหญ่จะหายภายในอายุ 65 ปี
อาการไมเกรนส่วนใหญ่จะปวดตุบ ๆ ข้างเดียวอย่างรุนแรง และอาจจะเกิดอาการต่อเนื่องได้อย่างรุนแรง บางคนเกิดความรู้สึกแปลก ๆ เช่น มองเห็นแสงไฟระยิบระยับ เห็นเส้นซิกแซกหรือจุดมืดเมื่อมองภาพ เมื่อเริ่มปวดศีรษะบางคนอาจรู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน ทนแสงจ้าและเสียงดังไม่ได้ บางคนอาจวิงเวียนศีรษะ รู้สึกซ่าหรือชา มีตัวกระตุ้นหลายอย่างที่ทำให้เกิดไมเกรน ทำให้หลอดเลือดแดงในสมองหดตัวในระยะแรกแล้วจึงขยายตัว ระดับเซโรโตนิน ( serotonin ) ที่เคยต่ำจะเพิ่มสูงขึ้นในระหว่างที่มีอาการ ระดับของสารสื่อประสาทอื่น อีกหลายตัวเกิดการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งระดับแคลเซี่ยมและแม็กนีเซียม
ตัวกระตุ้นไมเกรน
*อาหารบางอย่าง เช่น นม เนยแข็ง ช็อกโกแลต ไวน์แดง อาหารทอด และผลไม้จำพวกส้ม ข้าวสาลี มะเขือเทศ มันฝรั่ง
*น้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากหิวหรือกินอาหารคาร์โบไฮเดรตขัดขาวมากเกินไป
*การขาดน้ำ
*ความเครียด ช็อค หรือ ความวิตกกังวล
*นอนหลับไม่เพียงพอ
*แสงจ้า หรือ สีบางสีจากแสง
*เสียงดัง
*อากาศเปลี่ยนแปลง
*อากาศแห้งหรือลมร้อนแห้ง
*การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน
*ความผิดปกติอวัยวะภายในของผู้หญิง เช่น มีเนื้องอกที่มดลูก
ป้องกันโดยการสังเกตุ
– สังเกตุตัวเองก่อนเกิดอาการว่า รับประทานอาหารอะไร อยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร แล้วพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งนั้น โดยจดบันทึกอย่างละเอียด
– ฝึกผ่อนคลายเพื่อ หลีกเลี่ยงความเครียด เช่น ปล่อยวางในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำสมาธิ นวดร่างกาย ฝึกโยคะ
– อาหารที่เชื่อว่าป้องกันไมเกรนได้ เช่น ธัญญพืชไม่ขัดขาว ปลาทูน่า ปลาซาร์ดีน เพราะมีกรดไขมันโอเมก้า–3
– หากเริ่มมีอาการปวดศีรษะลองรีบนอนพักในห้องที่มีอากาศบริสุทธิ์
การบำบัดโดยวิธีธรรมชาติ
– ดื่มน้ำขิงอุ่นๆ และน้ำต้มจากใบกะเพราอุ่น ๆ ช่วยลดอาการคลื่นไส้ซึ่งมาพร้อมกับอาการปวดศีรษะ
– นำ ผล ต้น ใบ ดอก และ ราก ของมะตูมนิ่ม มาต้มรับประทาน
– นวดบริเวณต้นคอและขมับเบา ๆ ด้วยน้ำมันสวีทอัลมอนด์ 1 ช้อนชา ผสมกับน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินท์ และ น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ อย่างละ 1 หยด
– ประคบร้อนโดยหยดน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มินท์ และ น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ หรือ อย่างใดอย่างหนึ่ง ลงในน้ำอุ่นจัด ๆ ประคบบริเวณหน้าผากเมื่อมีอาการ
พบแพทย์ หากมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือมีไข้ร่วมด้วย โดยปกติผู้ป่วยไมเกรนมักไม่มีอาการไข้