ลาเวนเดอร์เป็นน้ำมันหอมระเหยที่ใช้กันมานานในยุโรป ทั้งในด้านอโรม่าเทอราพี และผสมในน้ำมันนวด มีการศึกษามากมายทั้งในมนุษย์และสัตว์พบว่า น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ มีฤทธิ์ช่วยลดความกระวนกระวาย (sedative) คลายความกังวล (anxiolytic) ทำให้จิตใจสงบ (mood moderate) ช่วยให้หลับสบายดียิ่งขึ้น นอกจากนี้การทดลองในหลอดทดลอง (in vitro) ยังพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง แบคทีเรีย เชื้อราและแมลงหลายชนิดด้วยกัน ประเทศที่ปลูกลาเวนเดอร์มาก ได้แก่ ฝรั่งเศส จีน สเปน อังกฤษ ออสเตรเลีย รัสเซีย ยูเครน และ บัลแกเลีย ฯลฯ
ลาเวนเดอร์มีมากกว่า 30 สายพันธุ์ แต่ที่นิยมนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ ได้แก่
- True Lavender บางทีก็เรียกว่า English Lavender มาจากพันธุ์ Lavandula angustifolia หรือในชื่อเก่าเรียกว่า Lavandula officinalis หรือ Lavandula Vera True Lavender เจริญเติบโต ขยายพันธุ์ที่ระดับความสูง 600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล และชอบเติบโตในที่แห้งและทนต่ออากาศหนาวได้ดี ถึง -15 องศาเซลเซียส เชื่อกันว่าน้ำมันหอมระเหยที่ได้จาก True Lavender มี กลิ่นที่หอมหวานที่สุด (Sweetest) คุณภาพดีปลอดภัย และเหมาะที่สุดสำหรับใช้ในอโรมาเทอราพี และไม่มีข้อห้ามในการใช้ สามารถใช้กับเด็กเล็กได้
- Spike Lavender มาจากสายพันธุ์ Lavandula latifolia หรือ Lavandula spica ซึ่งสามารถขยายพันธุ์ในระดับความสูงที่ต่ำกว่า True Lavender มาก ปลูกได้ง่ายและให้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหยที่มีปริมาณมากราคาจึงถูกกว่า น้ำมันหอมระเหยจาก Spike Lavender จะมีกลิ่นที่หนักที่สุด (Hardiest) ใน บรรดาน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ทั้ง 3 ชนิด พบว่าปลูกมากในประเทศสเปน เหมาะสำหรับใช้ไล่แมลง ปวดกล้ามเนื้อ แต่ควรระมัดระวังในการใช้เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ค่อนขัางแรง
- Lavandin เป็นพืชพันธุ์ผสมระหว่าง True Lavender (Lavandula angustifolia) กับ Spike Lavender (Lavandula latifolia) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lavendular x. intermedia Lavandin ปลูกได้ทั่วไป เจริญเติบโตได้ดี ที่ระดับความสูงต่ำ (400-600 เมตร) ให้ผลผลิตน้ำมันหอมระเหย เกือบสองเท่า ของTrue Lavender น้ำมันที่ได้จาก Lavandin จึงราคาถูก จึงมักจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมและเครื่องสำอางค์ แต่ไม่ค่อยนิยมนำมาใช้ในงานอโรมาเทอราพี กลิ่นของน้ำมันหอมระเหย Lavandin จะอยู่ระหว่าง True Lavender และ Spike Lavender
ยังมีอีกบางสายพันธุ์ซึ่งส่วนมาปลูกเพื่อความสวยงามคือ Lavendula stoechas และ Lavendula dentata
สารประกอบสำคัญ (ประมาณ %) ในน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์
สารประกอบสำคัญ | L. angustifolia | L. latifolia | L. intermedia |
Linalyl acetate | 7-56 | 0.8-15 | 2-34 |
Linalool | 6-50 | 11-54 | 24-41 |
Camphor | 0-0.8 | 9-60 | 0.4-12 |
1,8-Cineole | 0-5 | 25-37 | 6-26 |
Cis-Ocimene | 1.3-10.9 | 0.4-4 | 0.9-6 |
trans–Ocimene | 0.8-5.8 | 0.1-2 | 1.0-4 |
หมายเหตุ : สารประกอบสำคัญต่างๆ จะแตกต่างกันขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น การเพาะปลูก ช่วงเวลาที่เก็บเกี่ยว ดินที่ทำการเพาะปลูก สภาพดินฟ้าอากาศระหว่างเพาะปลูก เป็นต้น
ข้อมูลจาก :
- 1. The Chemistry of Essential Oil
- 2. The Centre of Holistic Pedriatic Education and Research
- 3. The College of Agriculture, Human and Natural Resource Science. Washington State University, USA.