การสกัดน้ำมันหอมระเหย

การสกัดสารระเหยจากพืชมีหลายวิธีด้วยกัน การสกัดบางวิธีก็ให้น้ำมันหอมระเหย (True essential oil) การสกัดบางวิธีก็ได้สารระเหยที่สกัดจากพืช (Aromatic extracts) ซึ่งเราไม่ถือว่าเป็นน้ำมันหอมระเหย  น้ำมันหอมระเหยจะได้จากการกลั่นจากไอน้ำ (Distillation) และการบีบ (Expression) เท่านั้น ในงานสุวคนธบำบัด (Aromatherapy) แบบดั้งเดิมจะใช้เฉพาะน้ำมันหอมระเหย (True essential oil) เท่านั้น แต่ในระยะหลังการนำเอาสารสกัดจากพืช (Aromatic extracts) มาใช้ใน Aromatherapy ได้รับการยอมรับมากขึ้นโดยลำดับ ดูในรูปจะพบความแตกต่างในการสกัดสารจากพืชที่เป็นน้ำมันหอมระเหย (Essential oil) และ สารระเหยจากพืช (Aromatic extracts)

EO_Extraction_Chart

การสกัดน้ำมันหอมระเหยมีหลายวิธี คือ

1. การกลั่น (Distillation)

1.1) การกลั่นด้วยน้ำ (Water Distillation)

วิธีนี้ทำโดยนำพืชที่เราต้องการสกัด ใส่ลงไปในภาชนะ ซึ่งในภาชนะนั้นมักจะมีตะแกรงสำหรับวางพืชชนิดที่เราต้องการกลั่น จากนั้นก็เติมน้ำสะอาดน้ำจนท่วมพืชที่ต้องการกลั่น แล้วต้มน้ำจนเดือดกลายเป็นไอน้ำ การที่ต้องมีตะแกรงก็เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนถูกกับพืชโดยตรง เพราะน้ำมันหอมระเหยที่ได้อาจจะมีกลิ่นไหม้ผสมได้ น้ำมันหอมระเหยและน้ำ ในพืชชนิดนั้นๆ ระเหยขึ้นไป จากนั้นไอระเหยก็จะถูกทำให้เย็นลงเพื่อให้กลับมาเป็นของเหลวอีกครั้ง ซึ่งในขั้นตอนนี้ น้ำมันหอมระเหยจะถูกแยกจากน้ำ

1.2) การกลั่นด้วยน้ำและไอน้ำ (Water and Steam Distillation)

วิธีนี้จะให้ไอน้ำผ่านส่วนผสมของพืชและน้ำที่รวมกันอยู่ เมื่อน้ำและน้ำมันหอมระเหย ระเหยขึ้นไป จึงถูกทำให้ไอน้ำเย็นลงแล้วนำไปแยกน้ำมันหอมระเหยออกมา

1.3)  การกลั่นด้วยไอน้ำ (Steam Distillation)

โดยการนำพืชที่ต้องการกลั่นใส่ในหม้อ แล้วให้ความร้อนกับน้ำเพื่อให้กลายเป็นไอน้ำแล้วให้ไอน้ำผ่านในพืชที่ต้องการกลั่น  ซึ่งปกติอุณหภูมิของไอน้ำมักจะไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส  แต่ในทวีปอเมริกาและในยุโรป  มักจะเพิ่มความดันอากาศภายในหม้อกลั่น ช่วยทำเพิ่มอุณหภูมิของไอน้ำ และ ลดเวลาในการกลั่นได้ แต่ถ้าร้อนเกินไปก็อาจทำให้คุณสมบัติของน้ำมันเปลี่ยนไปได้

1.4) การกลั่นภายใต้สูญญากาศ (Steam and Vacuum Distillation)

การกลั่นแบบนี้จะต้องดูดอากาศภายในหม้อกลั่นออก ความดันอากาศภายในมักอยู่ระหว่าง 100-200 mmHg ข้อดีของการกลั่นแบบนี้คือช่วยลดเวลาในการกลั่นลงมาก แต่ก็มีข้อเสียคือ ต้องควบคุมการกลั่นให้มีประสิทธิภาพและการทำให้ไอน้ำเย็นลงต้องทำอย่างรวดเร็ว นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

2. บีบเย็น หีบเย็น หรือสกัดเย็น (Cold Expression)

ส่วนมากมักจะใช้สกัด น้ำมันหอมระเหย จากเปลือก ส้ม มะนาว ส้มโอ มะกรูด  ก่อนอื่นต้องปลอกเปลือกของผลไม้เหล่านี้ แล้วทำให้ชิ้นเล็กลง แล้วนำไปบีบ จะได้ของเหลวที่มีทั้งน้ำและน้ำมันหอมระเหยผสมกันอยู่ จากนั้นต้องรอให้น้ำมันลอยตัวแยกจากน้ำ แล้วจึงสามารถ แยกส่วนที่เป็นน้ำมันหอมระเหยออกมาได้ วิธีนี้ถือเป็นวิธีที่มีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำที่สุด  แต่น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการสกัดแบบนี้ จะไม่บริสุทธิ์มาก และ มีอายุไม่นาน ประมาณ 6 เดือนถึง 1 ปี กลิ่นและคุณสมบัติจะค่อยๆหมดสภาพไป ขณะที่น้ำมันพื้นฐาน อาจจะมีอายุอยู่ได้นานกว่า คือประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาด้วย

การสกัดสารระเหยที่สกัดจากพืช (Aromatic Extracts) มีหลายวิธี คือ

1) การสกัดด้วยตัวทำละลาย (Solvent Extraction)  

การสกัดแบบนี้ จะนำเอาสารทำละลายประเภทไฮโดรคาร์บอน ใส่ลงไปกับพืชที่ต้องการสกัด เพื่อให้ น้ำมันหอมระเหย ละลายออกมา จากนั้นก็นำสารละลายที่ได้ไปทำให้เข้มข้นขึ้นโดยผ่านกระบวนการกลั่น ก็จะได้เป็นสารที่มีส่วนประกอบของ เรซิ่นอยู่ด้วย ซึ่งก็จะมีลักษณะคล้าย แว็กซ์ ที่มี น้ำมันหอมระเหย ผสมอยู่ภายใน จากนั้น ก็นำ แอลกอฮอล์บริสุทธิ์มาละลายเอาน้ำมันหอมระเหยออกมา แล้วจึงทำให้แอลกอฮอลระเหยไป คงเหลือ แต่น้ำมันหอมระเหย อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการสกัด เพราะน้ำมันหอมระเหยที่ได้จะยังคงมีส่วนของสารละลายที่ตกค้างอยู่ ซึ่งอาจจะทำให้ระคายเคืองและแพ้ได้

2) Enfleurage

วิธีนี้มักใช้กับการสกัดดอกไม้ที่บอบบาง เช่น ซ่อนกลิ่น มะลิ เป็นต้น ปัจจุบันแทบไม่มีใครใช้วิธีนี้แล้ว เพราะต้องใช้ทั้งเวลาและแรงงานมาก ปัจจุบัน 99 % ของดอกซ่อนกลิ่น และมะลิ ผลิตโดยวิธี Solvent extraction

3) Carbon dioxide

มีผู้คิดค้นวิธีสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เหลว ภายใต้แรงดันสูง เพื่อทำละลายให้สารระเหยในพืช ละลายในคาร์บอนไดออกไซด์เหลว แล้วจึงปล่อยให้คาร์บอนไดออกไซด์เหลวระเหิดในสภาวะความดันปกติก็จะเหลือไว้ แต่สารหอมระเหยจากพืชบริสุทธิ์ วิธีนี้ยังคงเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะได้สารหอมระเหยบริสุทธิ์มาก และมีความคงตัวสูง สามารถเก็บไว้ได้นานมากกว่าวิธีการสกัดอื่นๆ  แต่ข้อเสียคือ มีต้นทุนในการผลิตสูงกว่าวิธีอื่นๆ ปัจจุบันสาระเหยที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีนี้ได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการนำมาใช้ในงาน Aromatherapy และอุตสาหกรรมน้ำหอม มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสารสกัดที่ได้มีความบริสุทธิ์และไม่ผ่านความร้อนสูง

ข้อดีและข้อเสียในการสกัดแต่ละวิธี

Extraction ProcessAdvantagesDisadvantages
DistillationEconomical, Simple apparatus, large quantity scale, little laborTime consumption, Changing constituents
ExpressionSimple apparatus, no heatOxidize quickly, Only Citrus peel oil,
EnfleurageLow temperature needed, solvent residue leftTime consuming, labor intensive
CO2 ExtractionNo heat, pure product, long lasting productExpensive
Solvent extractionConstant productSolvent residues

Leave a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *

Shopping Cart
Scroll to Top